นักเรียนอยู่ไหน ครูไทยไปถึง…คำพูดที่ให้กำลังใจกันระหว่างการเดินทางไปเยี่ยมบ้านนักเรียน ที่อาศัยอยู่เหนือสันเขื่อนภูมิพล อ.สามเงา จ.ตาก
ที่นั่น เป็นที่ตั้งของชุมชนเล็กๆ ตั้งอาศัยอยู่ 5 หมู่บ้าน คือ บ้านอูมวาบ บ้านโสมง บ้านสันป่าป๋วย บ้านหินลาดและบ้านนาไฮ โดยช่วงที่มีการก่อสร้างเขื่อนภูมิพล ชาวบ้านไม่ยอมอพยพออกจากพื้นที่ แต่กลับอพยพหนีขึ้นไปอยู่ในที่สูงให้พ้นจากน้ำท่วม โดยประกอบอาชีพเลี้ยงวัว ทำประมง หาของป่า และทอผ้าขาย
นายรัตติพงษ์ สันตติภัค ผู้อำนวยการโรงเรียน และคณะครู โรงเรียนสามเงาวิทยาคม อ.สามเงา จ.ตาก ออกเดินทางไปยังหมู่บ้านเหนือสันเขื่อนภูมิพล เพื่อไปเยี่ยมบ้านนักเรียน ซึ่งกิจกรรมที่มีความสำคัญและจำเป็นอย่างยิ่งในการดำเนินงานระบบการดูแลช่วยเหลือนักเรียน โดยมีครูประจำชั้นหรือครูที่ปรึกษาเป็นบุคลากรหลักในการดำเนินงานในการเยี่ยมบ้าน
การเดินทางต้องนั่งเรือจากสันเขื่อนภูมิพล เวลา 50 นาที ไปยังหมู่บ้านสันป่าป๋วย ซี่งเป็นหมู่บ้านแรกเมื่อพวกเราไปถึง จากนั้นเดินทางต่อด้วยรถขับเคลื่อน 4 ล้อ ใช้เวลา 2 ชั่วโมง ลัดเลาะไปตามขุนเขา ซึ่งเป็นทางดิน บางช่วงต้องข้ามลำห้วย มีเพียงสะพานไม้ ที่ใช้ท่อนไม้พาดผ่านสองฝั่งเป็นระยะ คนขับรถต้องมีความชำนาญทางเป็นอย่างสูง
ปีนี้ น้ำขึ้นเหนือเขื่อนภูมิพลปริมาณมาก จากพื้นที่ราบเป็นทุ่งหญ้าให้รถวิ่งผ่านได้ กลับกลายเป็นเวิ้งน้ำ ส่วนหนึ่งของลำน้ำแม่ตื่นซึ่งเป็นลำน้ำสาขาที่มีขนาดใหญ่ของแม่น้ำปิง ไหลจากเทือกเขาในเขตอำเภออมก๋อย จังหวัดเชียงใหม่ มาบรรจบกับลำน้ำปิงเหนือเขื่อนภูมิพล ทำให้ต้องลงรถต่อเรือเร็ว เล่นไปตามลำน้ำ เพื่อเดินทางไปยังหมู่บ้านหินลาด และหมู่บ้านนาไฮ ซึ่งเป็นที่ตั้งของชุมชนชาวกะเหรี่ยง หรือปกาเกอะญอ ที่นี่ใช้พลังงานไฟฟ้าจากแผงโซล่าเซลล์
การเยี่ยมบ้านนักเรียน ทำให้พ่อแม่ผู้ปกครอง ดีใจมากที่คุณครูได้เดินทางไปเยี่ยมบ้านนักเรียน เพราะนอกจากจะได้เห็นเห็นสภาพแท้จริงของสิ่งแวดล้อมและสภาพความเป็นอยู่ทางครอบครัวของนักเรียน ยังได้พูดคุยถึงพฤติกรรม ความสนใจของเด็กๆ เมื่ออยู่ที่บ้าน และโรงเรียนเป็นอย่างไร และจะช่วยเสริมเสริมเด็กๆอย่างไรได้บ้าง
นอกการเรียนรู้ทางวิชาการ ที่เด็กๆ ได้เรียนรู้จากโรงเรียนแล้ว เราได้เห็นความรู้และทักษะทางวิชาชีพ ที่ถูกปลูกฝังจากพ่อแม่ผู้ปกครองมาตั้งแต่เด็ก ตามวิถีชีวิตของชุมชน เด็กผู้หญิงจะหัดทอผ้า โดยใช้เครื่องทอผ้าแบบกี่เอว ส่วนเด็กผู้ชายจะได้เรียนรู้เรื่องการเลี้ยงสัตว์ การประมงหาปลา และทำปลาย่างขาย
เช้าวันที่ 2 ของการเดินทาง เราลงเรือล่องไปตามสันเขื่อนภูมิพล เพื่อไปยังหมู่บ้านอูมวาบ และบ้านโสมง ชุมชนส่วนใหญ่อดีตเป็นชาวไทยพื้นราบ ที่อพยพหนีน้ำไปเหนือเขื่อน ส่วนที่พักอาศัย มีรูปแบบของแพ เพื่อทำอาชีพประมงหาปลา หรือบนเกาะ บนภูเขาเพื่อทำอาชีพเลี้ยงสัตว์
จากการไปเยี่ยมบ้านนักเรียน สิ่งหนึ่งที่ทางคณะได้สัมผัส และได้เห็น คือ พ่อแม่ผู้ปกครอง มีความหวังที่ต้องการให้เด็กๆได้รับการศึกษาที่ดี อยู่หอพักนอนก็ฝากฝังให้คุณครูได้เป็นพ่อแม่คนที่สอง เพื่อหวังว่าลูกของตนจะเป็นคนดีมีคุณภาพ และได้รับโอกาสทางการศึกษา มีอาชีพที่มั่นคงเลี้ยงดุตนเองและครอบครัวในอนาคตได้ต่อไป
การเดินทางมาเรียนของนักเรียนโรงเรียนสามเงาวิทยาคม ที่อาศัยอยู่ใน 5 หมู่บ้านเหนือสันเขื่อนภูมิพลนี้ มีจำนวน 39 คน เด็กๆ ต้องรวมตัวนั่งเรือออกมาจากหมู่บ้าน ในบ่ายวันอาทิตย์ เพื่อมาพักที่หอพักนอนนักเรียน เตรียมตัวเรียนในวันจันทร์ถึงวันศุกร์ ในช่วงเย็นวันศุกร์ ก็จะรวมตัวกันนั่งเรือแยกย้ายไปตามหมู่บ้านต่างๆ แต่ถ้าในช่วงหน้าฝน หรือลมแรง เรือจะไม่สามารถเดินทางไดก้ ก็ต้องนอนพักที่เหนือเขื่อน หมู่บ้านสันป่าป๋วยแทน
“เมื่อลุกๆนักเรียนต้องเดินทางมาเรียนอย่างยากลำบาก ด้วยการเดินทางที่ไกล และทุรกันดาร การที่ผู้บริหารสถานศึกษา และคณะครู ได้เดินทางมาเยี่ยมบ้าน ได้เห็นสภาพความแตกต่างของแต่ละบุคคล จะทำให้โรงเรียน ครู ได้มีความเข้าใจ และจัดการเรียนรู้ได้เหมาะสม แม้ว่าลูกๆนักเรียนของเราจะอยู่ไกล อยู่ที่ไหน…แต่ครูไทยต้องไปถึง เพื่อให้เด็ก ได้รับโอกาสทางการศึกษาอย่างทั่วถึงต่อไป”
ฤทัยกัญญา ชูทอง
นักจัดการงานทั่วไปชำนาญการ สพม.ตาก
ยอดเข้าชม: 6,123