โค้ดดิ้ง (Coding) กับการสร้างสรรค์นวัตกรรมกระบวนการคิดเชิงคำนวณสู่ทักษะที่จำเป็นในศตวรรษที่ 21 : ว่าที่ ร.ต.ภาณุวัฒน์ พุ่มเกษม

กระผม ว่าที่ ร.ต.ภาณุวัฒน์ พุ่มเกษม ครูโรงเรียนวัดศรีประชาราม สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาชลบุรี เขต 2 โรงเรียนขยายโอกาสที่มีวิสัยทัศน์ในการขับเคลื่อนสถานศึกษาที่ชัดเจนว่า “องค์กรแห่งการเรียนรู้ ครูมีมาตรฐานทันสมัย ก้าวไกลด้วยนวัตกรรม นำเด็กไทยสู่ศตวรรษที่ 21” ค่อนข้างมีความพร้อมด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ ที่เอื้อต่อกการส่งเสริมให้สถานศึกษามีแหล่งเรียนรู้ มีสื่อนวัตกรรมและเทคโนโลยีและสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการพัฒนาผู้เรียน

ด้วยความพร้อมของสถานศึกษา ขณะเดียวกันเทคโนโลยีมีพัฒนาอย่างรวดเร็ว AI สามารถเข้ามาช่วยอำนวยความสะดวกให้มนุษย์อย่างมากมาย แต่เด็กและเยาวชนกลับขาดการเชื่อมโยงการประยุกต์ใช้เทคโนโลยี โดยเฉพาะทักษะที่จำเป็นในศตวรรษที่ 21 ผู้เรียนจะคอยรับเนื้อหาที่เรียนและการลงมือปฏิบัติจากครูผู้สอนเพียงฝ่ายเดียว เมื่อให้ออกแบบผลงาน พบว่านักเรียนจะติดการแบบเลียนแบบ ขาดสิ่งแปลกใหม่ และขาดการใช้จินตนาการสร้างสรรค์ที่ไม่สามารถโยงความคิดไปสู่เป้าหมายอย่างชัดเจน ซึ่งเห็นได้ชัดเจนจากการเรียนการสอนในโรงเรียนที่กระผมในจัดการเรียนรู้ให้นักเรียนในระดับชั้น ม.1 – ม.3

ผมจึงมองหาหาแนวทางในการพัฒนานักเรียนให้มีทักษะกระบวนการคิดแก้ปัญหาอย่างสร้างสรรค์ คิดวิจารณญาณ โดยใช้การจัดกิจกรรมการเรียนรู้แบบใช้ปัญหาเป็นฐาน กับการเรียนการสอนวิชาวิทยาการคำนวณเรื่องการคิดเชิงคำนวณในการแก้ปัญหาเป็น และสามารถแก้ปัญหาตามโจทย์ที่กำหนดให้ได้ โดยอาศัยการเรียนรู้แบบใช้ปัญหาเป็นฐาน (Problem-based Learning) ร่วมกันออกแบบการจัดกิจกรรมการเรียนการสอนในรูปแบบ ADDCODE Model ก่อนอื่นการวิเคราะห์ผู้เรียนรายบุคคล ถือเป็นสิ่งสำคัญต่อการช่วยเหลือ พัฒนา ส่งเสริม และสนับสนุนในการคิดเพื่อแก้ปัญหาของผู้เรียนได้อย่างตรงเป้าหมาย ซึ่งในรายวิชาวิทยาการคำนวณ ผมออกแบบการจัดกิจกรรมการเรียนรู้วิทยาการคำนวณที่เน้นการแก้ปัญหาสำหรับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 – 3 เพื่อให้นักเรียนได้ลงมือปฏิบัติจริงและเห็นถึงสภาพปัญหา และหาแนวทางแก้ปัญหาด้วยตนเอง ซึ่งเฉพาะเจาะจงไปที่การเขียนโปรแกรมส่งข้อมูลแบบไร้สาย เพื่อพัฒนาทักษะการเขียนโปรแกรมรูปแบบ Block Programing ของนักเรียน และพัฒนาทักษะทางด้านแนวคิดเชิงคำนวณ ให้นักเรียนเห็นประโยชน์ของการนำกระบวนการออกแบบเชิงวิศวกรรม การออกแบบอัลกอริทึมและเขียนโปรแกรม มาใช้สร้างเครื่องใช้หรือวิธีการ การนำความรู้ไปใช้ประโยชน์ เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิต

รูปแบบแนวทางนวัตกรรมที่ผมใช้ดังต่อไปนี้

A : Analysis การวิเคราะห์ คือ วิเคราะห์นโยบาย หลักสูตรแกนกลาง มาตรฐาน ตัวชี้วัด วิเคราะห์ผู้เรียนการศึกษาวิเคราะห์ปัญหาและความต้องการของการพัฒนาการเรียนการสอน ซึ่งปัญหาดังกล่าวอาจเกิดจากหลายสาเหตุ เช่น ระดับพฤติกรรมของผู้เรียนไม่ถึงเกณฑ์ที่ผู้สอนตั้งไว้ทั้งด้านพุทธพิสัย เจตพิสัย และทักษะพิสัย ผู้สอนอาจมีสมรรถภาพการสอนด้านการใช้กลยุทธในการสอน และวิธีการวัดประเมินผลไม่สอดคล้องกับจุดประสงค์ที่วางไว้ หรืออาจเป็นเพราะผู้บริหารหรือนโยบายระดับสูงต้องการให้มีการเปลี่ยนแปลงบางประการในการดำเนินการสอน เมื่อได้ปัญหาที่ต้องการศึกษาเพื่อแก้ไข และพัฒนาการเรียนการสอนแล้ว ต้องระบุให้ชัดเจนและจำกัดขอบเขตให้เป็นที่เข้าใจตรงกัน ระหว่างผู้ดำเนินการพัฒนาด้วยกัน แล้วตั้งวัตถุประสงค์ให้แจ่มชัด กำหนดเกณฑ์การประเมินผล พร้อมกับตั้งสมมติฐานของการแก้ปัญหาไว้ด้วย

D : Design การออกแบบ คือ การวางแผนออกแบบกิจกรรมการจัดการเรียนการสอนในการยกตัวอย่างของปัญหาเพื่อให้ผู้เรียนสามารถสร้างรูปแบบการแก้ปัญหา ซึ่งอาจมีมากกว่าหนึ่งรูปแบบ รูปแบบของการแก้ปัญหาหมายรวมถึงการวางแผนการสอนที่จะต้องเน้นให้ผู้เรียนประเชิญกับปัญหาและให้หาแนวทางรูปแบบแก้ปัญหา ผู้สอนจึงต้องเน้นการจัดให้มีกิจกรรม สื่อการสอน แนวทางการดำเนินการเรียนการสอน การประเมินผล ที่สอดคล้องกับเนื้อหา จุดประสงค์ และรูปแบบของการแก้ปัญหา

D : Development การพัฒนา คือ การพัฒนารูปแบบและการทดลองใช้ ประกอบด้วย การพิจารณาตัดสินใจ เลือกกิจกรรมสื่อการสอน แนวทางการดำเนินการเรียนการสอน การประเมินผล เน้นให้ผู้เรียนรูปแบบการแก้ปัญหา และสร้างขึ้นให้สมบูรณ์ หลังจากการออกแบบไว้แล้วในขั้นที่ 2 การพัฒนาต้องมีจุดประสงค์ปลายทางที่แจ่มชัด วิธีการเรียนการสอนและสื่อการสอนที่เฉพาะเจาะจง สำหรับรูปแบบที่เลือกจะนำไปทดลองใช้ ซึ่งเป็นขั้นดำเนินการ หรือทดลองปฏิบัติการ เพื่อตรวจสอบประสิทธิภาพของรูปแบบ

C : Creation การสร้างแนวทางแก้ปัญหา คือ การสร้างแนวทางการแก้ปัญหาโดยหลังจากผู้สอนนำเข้าสู่บทเรียน หรือได้รับสถานการณ์จากผู้สอน ผู้เรียนต้องหาแนวทางการแก้ปัญหาจากสถานการณ์ข้างต้นที่ผู้สอนกำหนดให้ โดยผู้สอนอาจใช้รูปแบบการระดมสมอง หรือระดมกลุ่มเพื่อหาแนวทางการแก้ปัญหาที่ดีที่สุด และเสริมสร้างการทำงานเป็นทีมของผู้เรียน ผู้สอนจึงมีหน้าที่คอยให้คำแนะนำให้ผู้เรียนหาแนวทางในการแก้ปัญหาที่ดีที่สุด

O : Objective การคิดอย่างมีจุดมุ่งหมาย คือ การพัฒนาการคิดของผู้เรียนโดยเน้นการแก้ไขปัญหาตามแนวทางที่คิดไว้ และต้องคำนึงถึงจุดมุ่งหมายของการแก้ปัญหาที่ผู้สอนได้กำหนดไว้ โดยผู้สอนต้องคอยให้คำแนะนำ เพื่อให้แนวคิดหรือวิธีการแก้ปัญหาของผู้เรียนไม่ออกนอกกรอบวัตถุประสงค์ในการพัฒนากระบวนการคิดของผู้เรียน

D : Discuss การอภิปราย คือ การอภิปรายแนวทางการแก้ปัญหาที่ผู้เรียนได้หาแนวทางแก้ปัญหาไว้ โดยเป็นการให้ผู้เรียนได้นำเสนอการแก้ปัญหา และแลกเปลี่ยนแนวคิดซึ่งกันและกันภายในชั้นเรียน และส่งเสริมให้มีการอภิปรายร่วมกันโดยการความเปิดกว้างในการรับฟังแนวคิดที่เพิ่มเติมจากผู้เรียนและผู้สอน

E : Evaluation การประเมินผล คือ การประเมินผลนั้น ควรอยู่ในทุกขั้นตอน กล่าวคือ ในขั้นตอนแรก หลังจากกำหนดจุดมุ่งหมายและขอบเขตแล้ว ต้องประเมินผลว่า การกำหนดปัญหานั้น เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของการศึกษาหรือไม่ ถ้าไม่ ต้องปรับปรุงก่อนที่จะดำเนินการขั้นต่อไป ส่วนขั้นออกแบบ และขั้นการพัฒนารูปแบบนั้น ก็ต้องมีการประเมินรูปแบบที่ออกไว้ว่าสอดคล้องกับความต้องการหรือไม่ ควรปรับปรุงให้เหมาะสมก่อนนำไปทดลองใช้ และหลังจากทดลองใช้แล้ว ก็มีการประเมินผลลัพธ์อีกครั้งหนึ่ง

ผลลัพธ์จากการมุ่งมั่นที่ผมนำเทคนิค วิธีการ แนวทางเพื่อต้องการให้ผู้เรียนในระดับชั้น ม.1 – ม.3 สามารถนำไปคิดค้นนวัตกรรมของตนเอง นำไปปรับประยุกต์ใช้แก้ปัญหา และคิดวิเคราะห์ได้อย่างเหมาะสมในศตวรรษที่ 21 สิ่งที่สำคัญที่สุด นอกจากนวัตกรรมของตนเองแล้ว ผมยังคาดหวังว่า “ความรู้ที่นักเรียนได้รับสามารถนำไปคิดค้นนวัตกรรมในการดำเนินชีวิตของตนเองได้ในอนาคตได้อย่างมีความสุขและช่วยเหลือสังคมได้อีกด้วย”

กระผมมีความยินดีที่จะแชร์วิธีการ เทคนิค แนวทางการพัฒนาผู้เรียนเพื่อการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ อีกทั้งผมยังคงมุ่งมั่นสู่เป้าหมายของการสร้างนวัตกรรมชีวิตให้ลูกศิษย์เติบโตไปเป็นผู้นำความรู้สู่การเป็นคนดีของสังคมต่อไป…